If you can dream it, you can do it = ถ้าคุณฝันได้ คุณก็ทำได้
 
     
 
พะยูงฤาจะสูญสิ้นแผ่นดินไทย (๒)
พ่อค้าไทยจะเรียกรถตู้คอนเทนเนอร์มาจากท่าเรือใดท่าเรือหนึ่งในไทย มาขนส่งไปยังเป้าหมายไม่ว่าจะเป็นประเทศจีน ไต้หวัน หรืออินเดีย โดยไม่ต้องชำระภาษีแต่อย่างใด
 

...ในตอนที่  (๑)  เราทิ้งปรัศนีไว้ว่า  โกดังที่เก็บไม้เพื่อจะส่งออกต่างประเทศในท้องที่อิสานใต้  ส่วนมากจะตั้งอยู่ที่ใด  และกลยุทธ์ในการนำไม้จากที่ดินกรรมสิทธิ์และสิทธิครอบครองตลอดจนไม้ที่ลักลอบจากป่าสงวนแห่งชาติ  เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหรืออุทยานแห่งชาติ  มาเตรียมกองไว้เพื่อจัดส่งออกนอกประเทศไปอย่างไรนั้น  จะขอเล่าย้อนไปในอดีตที่ไม่นานนัก  เมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๕๔๙  สืบเนื่องมาจากเจ้าหน้าที่ป่าไม้ของเรา  ผ่านไปทางอำเภอพิบูลมังสาหาร  ไปพบไม้กองอยู่ในโกดังที่ทำล้อมรอบด้วยสังกะสีเนื้อที่ประมาณไร่เศษ  เป็นโกดังกึ่งถาวร  เพราะภายในมีโรงเรือนที่มีหลังคามุงด้วยสังกะสีอยู่หนึ่งหลัง  และมีไม้พะยูงกองทะลักออกมาจากโรงเรือน  มาอยู่ภายนอกที่พื้นที่เป็นซีเมนต์  เป็นไม้พะยูงหลากหลายสภาพและขนาด  เก่าบ้างใหม่บ้าง  แล้วแต่จะหามาได้  ในตอนนั้นกรมป่าไม้ถูกแบ่งแยกไปเป็นกรมอุทยานแห่งชาติ  สัตว์ป่า  และพันธุ์พืช แล้ว  แต่เรายังคงสนธิกำลังกันได้อย่างดี  ไม่เหมือนปัจจุบันที่ต่างฝ่ายต่างเกี่ยงกัน  ขาดซึ่งความสามัคคี  แต่ก็ได้ร่วมทำการจับกุมได้ไม้พะยูงประมาณ  ๑,๖๐๐  ท่อน  ทำให้รู้ว่าจะต้องมีโกดังในลักษณะนี้อีก  วันรุ่งขึ้นจึงได้ออกตรวจจับกุมไม้ได้อีกหลายโกดัง  บางแห่งรู้ตัวก่อน  นำไม้ออกมากองทิ้งนอกโกดังก็มี  อำเภอนี้มีด่านพรมแดน  คือ  ด่านช่องเม็ก  กั้นระหว่างไทย – สปป.ลาว  และยังมีด่านอำเภอเขมราฐอีกหนึ่งแห่ง  ในห้วงเวลานั้นประเทศเพื่อนบ้านของเราไม่ว่า  สปป.ลาว หรือกัมพูชา  ยังมีการส่งไม้แปรรูปออก  พ่อค้าไม้ในไทยมีการนำไม้เข้าประเทศ  ใน    วิธีการ 

                ประการแรก  นำเข้าตามปกติเพื่อใช้สอยในประเทศ  โดยใช้กฎและระเบียบเดิม  เมื่อนำเข้าไม้จำเป็นจะต้องมีการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ศุลกากรและเจ้าหน้าที่ป่าไม้  และมีการออกใบเบิกทางกำกับไม้ไปยังสถานที่ต่าง ๆ ตามวัตถุประสงค์ของผู้นำเข้า  จะระบุชื่อไม้ต่อท้ายด้วยชื่อประเทศ  เช่น  ไม้พะยูงลาว  หรือไม้พะยูงกัมพูชา 

                ประการที่สอง  เป็นการนำเข้ามาพักเพื่อเปลี่ยนถ่ายรถขนส่ง  หากเรียกว่า  เป็นการนำผ่าน  น่าจะถูกต้องกว่า  เป็นการนำสินค้าไม้เข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อส่งไปประเทศที่สาม  ซึ่งศุลกากรแจ้งว่า  การนำเข้านี้เรียกกันว่า  “สินค้าผ่านแดน”  พ่อค้าเมื่อนำไม้เข้าจะใช้เอกสารที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า  “เอกซ์ปอร์ต  พาส เปอร์มิต”  (Export  pass  permit)  ติดต่อกับเจ้าหน้าที่ศุลกากร  เพื่อขออนุญาตผ่านแดน  แล้วนำรถบรรทุกไม้ที่มีกระบะเปลือย  บรรทุกไม้มีผ้าใบคลุมปิดรัดขอบผ้าใบติดลวดตะกั่วร้อยไว้จาก สปป.ลาว  ห้ามมิให้ผู้ใดเปิดก่อน  หากจะมีการตรวจสอบต้องใช้เจ้าหน้าที่ทั้งสองฝ่ายร่วมกันจึงจะเปิดดูได้  ทางลาวเรียกว่า  “หนีบกิ่ว”  พ่อค้าไทยได้เช่าโกดังไว้ฝั่งไทย  และได้แจ้งศุลกากรขออนุมัติเป็นคลังสินค้าชั่วคราวเพื่อถ่ายเก็บไม้ที่ลำเลียงมา  เมื่อตรวจสอบกันครบถ้วนตามเอกสาร  พ่อค้าไทยจะเรียกรถตู้คอนเทนเนอร์มาจากท่าเรือใดท่าเรือหนึ่งในไทย  มาขนส่งไปยังเป้าหมายไม่ว่าจะเป็นประเทศจีน  ไต้หวัน  หรืออินเดีย  โดยไม่ต้องชำระภาษีแต่อย่างใด  เรื่องในทำนองนี้ป่าไม้เราน้อยคนที่จะรู้มาก่อน  เนื่องจากเป็นระเบียบของศุลกากร  ทำให้อดแปลกใจไม่ได้  จึงได้สอบถามเจ้าหน้าที่ศุลกากร  ได้ความว่าการขนส่งไม้ในลักษณะนี้ว่าเป็น  “สินค้าผ่านแดน”  เป็นการปฏิบัติตามอนุสัญญาที่ไทยเป็นสมาชิกเรียกว่า  “อนุสัญญาบาเซโลนา”  สรุปสาระสำคัญคือ  การส่งสินค้าจากประเทศหนึ่งไปยังประเทศที่สาม  โดยประเทศผู้ส่งออกไม่มีดินแดนติดทะเล  ให้ประเทศที่สองอนุญาตให้ผ่านโดยที่สินค้าจะต้องบรรจุภัณฑ์ให้มิดชิดเรียบร้อย  และไม่ต้องชำระภาษีอากรแต่อย่างใด  ยกตัวอย่าง  สปป.ลาว  จะส่งไม้พะยูงเป็นสินค้าไปประเทศจีน  ประเทศลาวไม่มีดินแดนติดทะเลเพื่อส่งสินค้าทางเรือได้  จำเป็นต้องส่งผ่านประเทศไทย  ก็ให้ไทยให้ความสะดวกตามอนุสัญญาที่ได้ตกลงกันไว้  สำหรับเส้นทางขนส่งในประเทศต้องทำความตกลงว่าด้วยการส่งทางถนนระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว  ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมของไทย  และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมขนส่งไปรษณีย์และก่อสร้างของลาว  ร่วมลงนามซึ่งได้มีการตกลง  ลงนามร่วมกันเมื่อ    มีนาคม  ๒๕๔๒  ณ กรุงเทพมหานคร  มีทั้งหมด  ๑๕  ข้อ  หากเราอ่านและตีความจะเห็นว่า  ในทางปฏิบัติเท่าที่ตรวจพบเห็นว่าการปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อตกลงที่เขียนไว้ยังสับสนอยู่  ถ้าตีความว่าสินค้าที่ส่งออกไปจีนของลาว  สินค้าผ่านแดนควรบรรจุไม้พะยูงไว้ในตู้คอนเทนเนอร์และซีลให้เรียบร้อย  จึงมาขออนุญาตผ่านที่ด่านศุลกากร  และพอไปถึงท่าเรือกรุงเทพฯหรือแหลมฉบังก็ให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบความเรียบร้อยของตู้ว่ามีการเปิดระหว่างทางหรือไม่  แล้วจึงขนส่งลงเรือเดินทางไปประเทศจีน  แต่เท่าที่เห็นกลับเป็นว่าได้นำสินค้ามาพักไว้ในประเทศไทยก่อนแล้วจึงเรียกรถตู้คอนเทนเนอร์มารับ  ดังได้กล่าวไว้ในตอนต้นว่า  นำไม้มาแล้วถ่ายไม้ลงลักษณะเช่นนี้  น่าจะเรียกว่า  เป็นการถ่ายลำไม่น่าจะผิด  การควบคุมไม้ในลักษณะนี้มีเพียงเจ้าหน้าที่ศุลกากรฝ่ายเดียวที่รับผิดชอบ  หากมองในแง่ดี  ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร  แต่ถ้ามองในแง่ลบ  การมาถ่ายไม้ลงเพื่อไว้รอ  สุ่มเสี่ยงต่อการสวมไม้หากเจ้าหน้าที่ไม่สุจริตพอ  สรุปได้ว่าการกระทำในลักษณะนี้เป็นการนำเข้าไม้    กรณี  คือ  การนำเข้าและการนำผ่าน  ซึ่งการนำผ่านนี้  ผู้นำผ่านไม่ต้องเสียภาษีอากรแต่อย่างใด  และไม่ต้องประทับตรา ปมล.ที่ส้นไม้อีกด้วย  จึงเห็นว่าการนำผ่านหากเจ้าหน้าที่ไม่เข้มงวดในการตรวจสอบ  ควบคุมการนำไม้และไม้แปรรูปจากลาวเข้ามาในราชอาณาจักรไทยผ่านด่านศุลกากรในจังหวัดที่มีชายแดนติดต่อกับ สปป.ลาว ทั้งจำนวนและชนิดไม้  ซึ่งไม่ใช่สินค้าควบคุม  เพราะไม่ต้องชำระภาษีและประทับตราประเทศผู้ส่งออก  จึงเป็นช่องว่างหรือจุดอ่อนให้มีการนำไม้ในราชอาณาจักรไทยเข้าสวมปลอมปนเป็นไม้นำเข้า  หรือเป็นสินค้าผ่านแดนได้ง่าย  และเนื่องจากสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศของประเทศลาว  กับภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย  มิได้แตกต่างกัน  ต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ในประเทศลาวและไทย  จึงมิแตกต่างกันทางด้านกายภาพ  จึงทำให้ผู้ประกอบการอาจนำไม้ในไทยเข้าสู่ขบวนการได้  ทำให้รอดพ้นจากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ได้โดยง่าย  ที่ตั้งสมมุติฐานขึ้นมาเพื่อต้องการชี้ให้เห็นว่าทำไมอำเภอที่ด่านพรมแดนตั้งอยู่  จึงมีโกดังเกิดขึ้นมากมาย  และไม้พะยูงไม่ว่าจะเป็นไม้ที่ได้มาโดยชอบหรือผิดกฎหมาย  จึงพากันมุ่งสู่อำเภอเหล่านี้ 


Last updated: 2014-02-09 07:44:53


@ พะยูงฤาจะสูญสิ้นแผ่นดินไทย (๒)
 


 
     
เชิญท่านเป็นบุคคลแรกที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความ พะยูงฤาจะสูญสิ้นแผ่นดินไทย (๒)
 
     
     
   
     
Untitled Document
 



LFG
www.lookforest.com|บทความ|โปรแกรมคาร์บอนต้นไม้|ฐานข้อมูลชีวภาพ|เครือข่ายฟาร์มป่าไม้|ติดต่อบรรณาธิการ
Powered by: LOOK FOREST GROUP
23/1 ซอยรัชดาภิเษก 64 แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กทม.
Clicks: 
1,183

Your IP-Address: 3.15.228.171/ Users: 
1,182