ผู้บริหารที่ประสบความสำเร็จจะต้องรู้จักกำหนดภาพลักษณ์ของตนเองเข้าใจบทบาทและวางท่าที ที่เหมาะสมต่อสถานการณ์
 
     
 
บทบาทของป่าไม้กับปัญหาโลกร้อน
เนื่องจากป่าไม้ในสภาพธรรมชาติทำหน้าที่เป็นแหล่งเก็บกักคาร์บอน ดังนั้น เมื่อมีการปลูกป่า ก็จะมีพื้นที่ที่เป็นแหล่งเก็บกักคาร์บอนเพิ่มขึ้น
 

ป่าไม้เป็นแหล่งสะสมคาร์บอนขนาดใหญ่ของโลก โดยสะสมอยู่ทั้งในส่วนของต้นไม้และดิน คาร์บอนที่สะสมอยู่ในต้นไม้และดินนั้น มีปริมาณมากกว่าในบรรยากาศถึง 3.5 เท่า การแลกเปลี่ยนคาร์บอนระหว่างระบบนิเวศป่าไม้กับบรรยากาศจะถูกควบคุมโดยกระบวนการสังเคราะห์แสงของพืช การหายใจของสิ่งมีชีวิต และการย่อยสลายของจุลินทรีย์ในรูปของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์


คาร์บอนเป็นธาตุองค์ประกอบที่สำคัญของสิ่งมีชีวิต เนื่องจากโปรตีน คาร์โบไฮเดรต และสารประกอบอินทรีย์อื่นๆ ที่สำคัญล้วนแต่มีคาร์บอนเป็นองค์ประกอบทั้งสิ้น คาร์บอนปรากฏอยู่ในบรรยากาศในรูปของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งมีอยู่ในปริมาณร้อยละ 0.03 ของก๊าซในบรรยากาศ คาร์บอนอยู่ในมหาสมุทรในรูปของสารละลาย นอกจากนั้นยังเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของหินปูน มหาสมุทรมีปริมาณคาร์บอนมากกว่าในบรรยากาศถึง 50 เท่า วัฎจักรของคาร์บอนจะหมุนเวียนอยู่ระหว่างสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม หรือระหว่างอินทรีย์คาร์บอนและอนินทรีย์คาร์บอน



คาร์บอนในรูปของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มีการแลกเปลี่ยนระหว่างบรรยากาศ มหาสมุทร และพื้นดิน การแลกเปลี่ยนถูกควบคุมโดยกระบวนการสังเคราะห์แสงและการหายใจ การแลกเปลี่ยนที่มากที่สุดคือการแลกเปลี่ยนระหว่างบรรยากาศและสิ่งมีชีวิตบนพื้นดิน แหล่งสะสมคาร์บอนที่สำคัญได้แก่ มหาสมุทร ต้นไม้ และดิน


ในระหว่างกระบวนการสังเคราะห์แสงของพืช พืชจะดูดเอาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากบรรยากาศ ผ่านกระบวนการทางเคมีต่างๆ ได้อินทรียสารที่สลับซับซ้อน เช่น น้ำตาล และแป้ง เป็นต้น กระบวนการสังเคราะห์แสงจึงเป็นกระบวนการที่เปลี่ยนคาร์บอนจาก อนินทรีย์คาร์บอนเป็นอินทรีย์คาร์บอน และเป็นการเริ่มต้นของผู้ผลิตในระบบนิเวศ สารประกอบที่พืชสร้างขึ้นมาได้ ส่วนใหญ่จะถูกใช้เป็นพลังงานในกระบวนการหายใจทั้งในพืชและสัตว์ ซึ่งเป็นกระบวนการที่ปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่บรรยากาศ


ในบางกรณี คาร์บอนในรูปของอินทรียสารในสิ่งมีชีวิต อาจจะไม่ได้หมุนเวียนกลับคืนสู่บรรยากาศในทันทีทันใด แต่อาจจะสะสมอยู่ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง อาจจะนานเป็นสิบปี ร้อยปี หรือล้านปี ตัวอย่างเช่น คาร์บอนที่อยู่ในรูปเนื้อไม้ในต้นไม้ใหญ่ ซากพืชและสัตว์ในยุคโบราณที่เน่าเปื่อยผุสลายยังไม่หมด ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น

ดินเป็นแหล่งเก็บกักคาร์บอนที่ใหญ่และสำคัญอีกแหล่งหนึ่ง ปริมาณคาร์บอนที่เก็บกักไว้ในดิน (soil carbon pool) มีประมาณ 3.3 เท่าของในบรรยากาศ (atmospheric pool) และ 4.3 เท่าของที่เก็บกักไว้โดยมวลชีวภาพ (biotic pool)

คาร์บอนในดินอยู่ในรูปสารอินทรีย์ (soil organic carbon, SOC) และอนินทรีย์ (soil inorganic carbon, SIC) ปริมาณอินทรีย์คาร์บอนในดินมีค่าผันแปรสูง ขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่และสภาพภูมิอากาศ การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินจากสภาพธรรมชาติมาใช้ทำการเกษตรมีผลทำให้สารอินทรีย์ลดลงมากถึงร้อยละ 60  ในเขตหนาว และอาจมากถึงร้อยละ 75 หรือมากกว่าในเขตร้อน การลดลงของปริมาณสารอินทรีย์ทำให้ดินเสื่อมสภาพ


จะเห็นได้ว่าวัฏจักรของคาร์บอนประกอบด้วยกระบวนการที่สำคัญสองกระบวนการอันได้แก่ (1) กระบวนการสังเคราะห์แสง ซึ่งเป็นกระบวนการที่ดึงเอาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศเข้ามาสู่พืช หรือเปลี่ยนรูปจากอนินทรีย์คาร์บอนเป็นรูปอินทรีย์คาร์บอน และ (2) กระบวนการหายใจ เผาไหม้ และการกร่อน (erosion) ซึ่งเป็นกระบวนการที่นำคาร์บอนกลับไปสู่วัฏจักรในน้ำและบรรยากาศ หรือเปลี่ยนรูปจากอินทรีย์คาร์บอนเป็นอนินทรีย์คาร์บอน


ปริมาณการสะสมคาร์บอนในพืชและดินที่ระดับความลึก 1 เมตร ในไบโอมประเภทต่าง ๆ

ไบโอม

พื้นที่
(
106 กม2)

ปริมาณคาร์บอนที่สะสม (109 ตัน)

 

พืช

ดิน

รวม

ป่าเขตร้อน

(Tropical forests)

17.6

212

216

428

ป่าเขตอบอุ่น

(Temperate forests)

10.4

59

100

159

ป่าเขตหนาวเหนือ

(Boreal forests)

13.7

88

471

559

สะวันนาเขตร้อน

(Tropical savannas)

22.5

66

264

330

ทุ่งหญ้าเขตอบอุ่น

(Temperate grasslands)

12.5

9

295

304

ทะเลทรายและกึ่งทะเลทราย

(Deserts and semideserts)

45.5

8

191

199

ทุนดร้า

(Tundra)

9.5

6

121

127

พื้นที่ชุ่มน้ำ

(Wetlands)

3.5

15

225

240

พื้นที่การเกษตร

(Croplands)

16.0

3

128

131

รวม

151.2

466

2011

2477

 

เนื่องจากป่าไม้ในสภาพธรรมชาติทำหน้าที่เป็นแหล่งเก็บกักคาร์บอน ดังนั้น เมื่อมีการปลูกป่า ก็จะมีพื้นที่ที่เป็นแหล่งเก็บกักคาร์บอนเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกัน เมื่อป่าไม้เหล่านี้ถูกรบกวนหรือถูกทำลาย คาร์บอนที่เก็บสะสมอยู่เหล่านี้ก็จะถูกปล่อยออกสู่บรรยากาศ

 

เปรียบเทียบการปล่อยคาร์บอนจากการเผาเชื้อเพลิงและการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน ค่าเฉลี่ยรายปีในช่วงปี พ.ศ. 2523 ถึง 2532 และ พ.ศ. 2532 ถึง 2541

กิจกรรม

คาร์บอน (109 ตัน/ปี)

พ.ศ. 2523-2532

พ.ศ. 2532-2541

การเผาเชื้อเพลิงและอุตสาหกรรม

5.5 ± 0.5

6.3 ± 0.6

การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน

3.3 ± 0.2

3.3 ± 0.2

 

การปล่อยคาร์บอนจากการทำลายป่าเขตร้อนในปี พ.ศ. 2533

เขตทวีป

คาร์บอน (109 ตัน/ปี)

Achard et al. (2004)

DeFries et al. (2002)

Houghton (2003)

อเมริกา

0.441

0.43

0.75

เอเซีย

0.385

0.35

1.09

อาฟริกา

0.157

0.12

0.35

รวม

0.983

0.91

2.20


Last updated: 2011-01-09 16:01:29


@ บทบาทของป่าไม้กับปัญหาโลกร้อน
 


 
     
เชิญท่านเป็นบุคคลแรกที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความ บทบาทของป่าไม้กับปัญหาโลกร้อน
 
     
     
   
     
Untitled Document
 



LFG
www.lookforest.com|บทความ|โปรแกรมคาร์บอนต้นไม้|ฐานข้อมูลชีวภาพ|เครือข่ายฟาร์มป่าไม้|ติดต่อบรรณาธิการ
Powered by: LOOK FOREST GROUP
23/1 ซอยรัชดาภิเษก 64 แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กทม.
Clicks: 
2,681

Your IP-Address: 18.222.109.79/ Users: 
2,680