ในความรับผิดชอบการงานใด ๆ ก็ตาม ผู้รับผิดชอบที่มีความรับผิดชอบย่อมประสงค์จงใจให้การงานนั้น ๆ ประสบผลสำเร็จตามความมุ่งมาตรปรารถนา แต่หากเป็นผู้รับผิดชอบการงานที่ขาดความรับผิดชอบแล้ว ผลลัพธ์สุดท้ายอาจไม่แตกต่างกัน ทว่าผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นต่างหากที่อาจแตกต่างกันตั้งแต่น้อย ๆ จนถึงแตกต่างอย่างมหันต์
ซึ่งการทำงานด้านการป่าไม้ก็เช่นเดียวกัน มีโอกาสก่อให้เกิดความเสียหายใหญ่โตกับสังคมและประเทศชาติได้ตลอดเวลา หากผู้รับผิดชอบไม่มีความรับผิดชอบ ดังนั้น หากต้องการทำงานด้านการป่าไม้ให้มีความรับผิดชอบต่อสังคมและประเทศชาติแล้ว บรรดา วนกร ทั้งเก่าและใหม่ รวมทั้ง อนาคตวนกร ควรให้ความสำคัญกับธรรม 4 ประการในการทำงานป่าไม้ หรือที่อาจเรียกว่า ธรรมวนกร ดังนี้
เมตตาธรรม เป็นธรรมที่ช่วยค้ำจุนโลกให้คงความสงบร่มเย็นอยู่ได้จนถึงทุกวันนี้ โอกาสที่พวกเราชาววนกรจะต้องใช้ธรรมข้อนี้มีหลากหลายโอกาส โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การต้องปะทะสังสรรกับชาวบ้านผู้ยากไร้ที่ต้องเกิดความขัดแย้งกับบทบาทหน้าที่ของงานป่าไม้ เพราะมีวัตถุประสงค์ เป้าประสงค์ และจุดมุ่งหมายที่ต่างกันบนพื้นที่ป่าไม้ผืนเดียวกัน
คุณธรรม การทำงานด้านการป่าไม้ล้วนถูกแวดล้อมด้วยผลประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ขึ้นอยู่กับระดับความเจริญของจิตใจของวนกร ที่จะไม่แสวงหาผลประโยชน์อันมิพึงได้ในทุกรูปแบบ สังคมวนกรที่ดี จึงควรมีคุณธรรม ไม่ฝักใฝ่ในลาภยศสรรเสริญอันเกิดจากการทุจริต คำนึงถึงเพียงสิ่งอันพึงได้โดยสุจริตยุติธรรม ในกรณีที่ทำงานมาจนเติบใหญ่ มีโอกาสเป็นผู้ตัดสินใจในหลายกรณี
วนกรที่ดีต้องมีความยุติธรรมอยู่ในจิตใจ ไม่เห็นแก่อามิสสินจ้างรางวัล ช่วยจรรโลงสร้างสรรค์สังคมวนกรใหม่ให้เป็นที่ยอมรับในความยุติธรรม และเป็นตัวอย่างอันดีแก่สังคมส่วนรวมจริยธรรม วัตรปฏิบัติในการครองตนที่เรียกว่า จริยธรรม ครอบคลุมถึงการประพฤติปฏิบัติที่ดี สามารถเป็นตัวอย่างในการทำดีทั้งในหน้าที่การงาน การมีความรับผิดชอบต่อสังคมและประเทศชาติ
ธรรม 4 ประการ อันเป็นพื้นฐานของวนกรที่ดีสามารถประยุกต์ใช้กับการทำงานด้านการป่าไม้ในปัจจุบัน และอนาคต และจะช่วยจรรโลงป่าไม้ไทยให้อยู่ยั้งยืนยงต่อไปอย่างไม่มีวันสิ้นสุด ดังนั้น วนกรทั้งหลายคงต้องร่วมแรงร่วมใจเป็นเฟืองสำคัญช่วยให้กลไกแห่งธรรมวนกรหมุนเวียนต่อไปอย่างไม่มีวันสิ้นสุด
Last updated: 2010-11-03 22:11:42