ทำงานให้มองฟ้า เป็นอยู่ให้มองดิน
 
     
 
"พึงระวัง ป่าพังหมด"
หากยังคงมีการนิรโทษกรรมในการเพิกถอนป่าและออกเอกสารสิทธิ์ให้นายทุนต่อไป ให้เป็นห่วงกับขอเตือนว่า ..."พึงระวัง ป่าพังหมด"... ที่จะสร้างความเสียหายให้แก่ส่วนรวมอย่างแน่นอน...
 

...พึงระวัง ป่าพังหมด...

.ในชีวีที่พบพานงานป่าไม้
โอ้เมืองไทยไยเป็นไปเช่นนี้
พวกทำคิดผิดกฎหมายกลับได้ดี
ยิ่งนานปีที่หดหู่อดสูใจ

.คนบางกลุ่มอ้างมาว่ายากจน
อีกขัดสนที่ทำมาหากินได้
ถางผืนป่าจับจองครองถิ่นไพร
ทำนาไร่การเกษตรเขตทำกิน

.นักการเมืองหนุนมาน่าเห็นใจ
หาเสียงไปผ่อนผันกันเสียสิ้น
เพิกถอนป่าให้สิทธิในที่ดิน
อ้างทรัพย์สินช่วยคนบุกรุกป่าพง

.ครั้นที่ดินโอกาสดีมีราคา
เหล่านายทุนวุ่นหาพาประสงค์
ทุ่มเงินไปให้อื้อซื้อเจาะจง
ชาวบ้านหลงตรงเงินดีขายที่ไป

.แล้วอ้างมาน่าสมเพชเหตุผลเดิม
บุกไพรเพิ่มครอบครองจองที่ใหม่
สมบัติชาติถูกห้ำหั่นป่าบรรลัย
เส้นทางเก่าไม่เท่าไรขายนายทุน

.น่าเห็นใจพวกเหล่าชาวป่าไม้
รักษ์พงไพรทำงานกันหัวหมุน
นโยบายเรื่องที่ป่าชุลมุน
พาว้าวุ่นทำอย่างไรให้เข้าที

.ที่ป่าไม้หวังเพียงค่าเศรษฐกิจ
พาทำคิดผิดหลักการกันเต็มที่
เป็นรีสอร์ทบ้านเรือนคนชนชั้นดี
สิ่งแวดล้อมพร้อมป่นปี้มิกลัวกัน

.หากทำไปยังไม่เลิกเพิกถอนป่า
คนอยากมีที่ดินพากันกระสัน
แห่บุกป่าจับจองครองไพรวัน
คงถึงกาลป่าบรรลัยไปทั่วเมือง

.ครูนิด วนศาสตร์(ชมรมสีเสียดแก่น)
www.lookforest.com
หมายเหตุ: ขอบคุณเจ้าของภาพประกอบ

แรงดลใจ: ท่ามกลางกระแสกีฬาโอลิมปิคฟีเว่อร์ ที่คนไทยจำนวนมากให้ความสนใจในการลุ้นเหรียญรางวัลให้กับนักกีฬาไทยที่เข้าแข่งขัน จนอาจไม่ได้สังเกตข่าวทางด้านป่าไม้ที่น่าป็นห่วงอย่างยิ่ง ดังตัวอย่างข่าวของมติชนออนไลน์ประจำวันที่ 5 สิงหาคม 2567 ที่ได้พาดหัวข่าวตัวเป้งว่า “ อุทยานฯค้าน กฎหมายนิรโทษกรรมรุกป่าสุดลิ่ม ชี้ 40,000 คดี ปลิวทันที นายทุนร่าเริง เสียหายยิ่งกว่าทับลาน เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคมชัดเจน”

โดยมีเนื้อหาข่าวบางตอนที่น่าสนใจว่า “เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่า เวลานี้ มีความพยายามออกกฎหมาย เพื่อนิรโทษกรรมผู้ที่บุกรุกป่า และที่ดินของรัฐ มีอยู่ด้วยกัน 2 ฉบับ คือ 1) ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมและล้างมลทินแก่ราษฎรซึ่งได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบจากการดำเนินการตามกฎหมาย และนโยบายของรัฐด้านป่าไม้ และที่ดิน พ.ศ....  และ 2) ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ “

ทั้งนี้ นายอรรถพลกล่าวพอสรุปสาระสำคัญได้ว่า  “ในส่วนของกรมอุทยานฯแล้ว เห็นว่า ร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้ เป็นไปไม่ได้ ไม่สามารถทำได้เลย เพราะสร้างผลเสียอย่างมหาศาล โดยจะทำให้ผู้ที่บุกรุกพื้นที่ป่า และที่ดินของรัฐครอบครองที่ดินอย่างถูกต้องทั้งหมด ในที่นี้ รวมไปถึงนายทุนที่บุกรุกที่ดิน ทั้งพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และอุทยานแห่งชาติด้วย โดยตัวร่างกฎหมายระบุถึงการครอบครองตั้งแต่ก่อนประกาศพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ถึงปัจจุบัน ตนเห็นว่า หากกฎหมายนี้ผ่าน รัฐจะสูญเสียพื้นที่ป่าที่ถูกบุกรุก และกำลังพยายามเอาคืน ทั้งจากกลุ่มนายทุน และผู้บุกรุกใหม่จำนวนมหาศาล”

 “ถามว่าเป็นตัวเลขเท่าไร ยังไม่สามารถบอกได้ แต่รู้ว่าจำนวนมากจริง ซึ่งปัญหาอีกอย่างที่จะเกิดมาคือ ความเหลื่อมล้ำในสังคม นั่นคือ ในขณะที่คนในเมืองอีกมากมาย ไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง ต้องดิ้นรนทุกวิถีทาง และยากลำบาก ในการเป็นเจ้าของที่ดิน ในขณะเดียวกันคนที่เข้าไปบุกรุกพื้นที่ป่า กลับได้ที่ดินมาฟรีๆ โดยที่ไม่มีความผิดอะไรเลย อันนี้กรมอุทยานฯไม่สามารถยินยอมให้ทำได้ ผมเชื่อว่า ยังไงร่างกฎหมายฉบับนี้ก็ไม่ผ่านแน่นอน และต้องมีการพิจารณากันอีกยาวนาน คงไม่แล้วเสร็จภายในวันสองวันนี้หรอก มันจะเสียหายรุนแรง ยิ่งกว่าที่เรากำลังพยายามรณรงค์เซฟอุทยานแห่งชาติทับลานในเวลานี้กันอีก” นายอรรถพลกล่าว...

 (อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_4716104)

ในความเห็นส่วนตัว ขอชื่นชมและสนับสนุนความคิดเห็นของท่านอธิบดีข้างต้น กับทั้งขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายตระหนักความสำคัญต่อทรัพยากรป่าไม้ อันเป็นสมบัติที่ล้ำค่าของชาติ  ที่ต้องมีการอนุรักษ์ไว้ เพื่อเอื้ออำนวยประโยชน์ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ให้แก่ทุกคนในชาติ มิใช่ตกไปเป็นสมบัติส่วนตัวของเหล่านายทุนที่มุ่งประโยชน์เพื่อตัวเองเท่านั้น


Last updated: 2024-08-23 17:11:19


@ "พึงระวัง ป่าพังหมด"
 


 
     
เชิญท่านเป็นบุคคลแรกที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความ "พึงระวัง ป่าพังหมด"
 
     
     
   
     
Untitled Document
 



LFG
www.lookforest.com|บทความ|โปรแกรมคาร์บอนต้นไม้|ฐานข้อมูลชีวภาพ|เครือข่ายฟาร์มป่าไม้|ติดต่อบรรณาธิการ
Powered by: LOOK FOREST GROUP
23/1 ซอยรัชดาภิเษก 64 แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กทม.
Clicks: 
98

Your IP-Address: 18.97.9.171/ Users: 
97