.ปีสองสี่ที่จบมาเกษตรศาสตร์
ยังหมายมาดเกร็ดเยื่อใยให้คิดถึง
ความผูกพันในห้วงใจใฝ่ตราตรึง
ด้วยซาบซึ้งประสบการณ์ผ่านพบมา
.ใต้นนทรีร่มเย็นได้ใจอบอุ่น
พันธุ์ไม้คุ้นสัญลักษณ์ตระหนักค่า
ยิ่งคราวออกดอกเหลืองเมลืองตา
เคยพึ่งพาครั้งพากเพียรเรียนสี่ปี
.พบศิษย์เก่าชาวเกษตรฯใส่ใจรู้
รุ่นเคยู*หมู่พวกพ้องเพื่อนน้องพี่
สร้างกันเองเร่งย้ำสัมพันธ์มี
สานไมตรีเอื้อเฟื้อคอยเกื้อหนุน
.ยามขี่รถจักรยานพลันหวนคิด
เป็นนิสิตชีวิตผ่านอันมักคุ้น
ใช้เดินทางคนซ้อนท้ายได้เจือจุน
เพื่อนร่วมรุ่นดีมากล้ำสุดรำพัน
.ยินบทเพลงของตะลัย*ให้แช่มชื่น
พาเริงรื่นร้องคลอไปใจสุขสันต์
ซึ้งความหมายหลายลีลาค่าอนันต์
พาหวนวันรับน้องใหม่ได้อย่างดี
.เห็นดวงตราพระพิรุณอบอุ่นนัก
แสนตระหนักถิ่นศึกษามาเต็มที่
ได้ทักษะประสบการณ์อันมากมี
บ้านแห่งนี้ทุ่งบางเขน*ร่มเย็นนัก
.ผ่านสนามเล่นรักบี้ที่แห่งใด
อดปลื้มใจในกีฬาเคยประจักษ์
สร้างชื่อเสียงยิ่งใหญ่ใครก็ทัก
เกษตรฯมักคว้าแชมป์ได้ในหลายครา
.สองกุมภาคราใดใจปลื้มล้น
ไม่ลืมหล่นคนเคยูรู้ถ้วนหน้า
เกษตรแฟร์จัดงานสืบสานมา
วันก่อค่าสถาปนาถิ่นตะลัย
.คือเสี้ยวเกร็ดเกษตรฯย้ำนำคิดถึง
แสนตราตรึงอดีตดีที่เคยได้
แม้จากลามานานสักปานใด
ยังซึ้งใจในการุณย์พระคุณมี
.ครูนิด วนศาสตร์(ชมรมสีเสียดแก่น)
www.lookforest.com
หมายเหตุ
*คำที่ใช้ในหมู่ชาวเกษตรศาสตร์ โดย เคยู คือ ชื่อย่อของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์(KU : Kasetsart University) ตะลัย คือ มหาวิทยาลัย
และบางเขน คือ ชื่อตำบลและอำเภอเดิมอันเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นแขวงลาดยาวและเขตจตุจักรตามลำดับ
แรงดลใจ:
เชื่อว่าศิษย์เก่าของทุกสถาบันการศึกษา
ย่อมมีความประทับใจในอดีตที่เคยสัมผัสตอนชีวิตวัยเรียนกันทุกคน
ส่วนที่ว่ามากหรือน้อยแค่ไหนย่อมขึ้นอยู่กับอารมณ์ของแต่ละคน
บางคนอาจเกิดความรู้สึกเฉพาะตัวที่ต่างจากคนอื่นก็ได้
เพราะมีประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจนเกิดความรู้สึกผูกพันที่ฝังแน่นในความทรงจำ
เคยเจอรุ่นน้องคนหนึ่งบอกว่ายังทรงจำความช่วยเหลือที่เคยช่วยให้เงินลงทะเบียนเรียน
แม้ไม่มากนักแต่ก็ทำให้เขาทรงจำตลอดมาแถมยังบอกว่าจะทรงจำตลอดไปเลย
ช่วงปี
พ.ศ.2520-24 ที่ได้มีโอกาสเรียนในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
นับว่าเป็นช่วง 4 ปีที่มีคุณค่าสำหรับตัวเองนัก
ด้วยนอกจากได้รับความรู้และประสบการณ์ที่เป็นพื้นฐานในการนำมาใช้ประกอบอาชีพจนทุกวันนี้แล้ว
ยังมีอีกหลายได้ที่อยู่ในความทรงจำที่คิดว่าชาวเกษตรฯหลายคนที่เรียนในช่วงนั้นคงมีความรู้สึกในทำนองเดียวกัน
ซึ่งอาจแตกต่างไปจากรุ่นพี่และรุ่นน้องไปบ้าง
ด้วยบริบทและสถานการณ์ที่ในบางด้านที่มีการเปลี่ยนแปลงไปบ้างตามกาลเวลา
ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติของโลกใบนี้ที่ทุกอย่างไม่มีความคงทนถาวรตราบฟ้าดินสลาย
อย่างไรก็ตาม
เชื่อว่าที่น่าเหมือนกันมาตลอดของศิษย์เก่าเกษตรฯ ก็คือ การเป็นรุ่นKUตอนปีแรกที่เข้าเรียนที่ทุกคนจำได้(ต่างกับบางสถาบันการศึกษาที่นับรุ่นตอนปีที่สำเร็จการศึกษา)
ดังนั้นเมื่อพบศิษย์เก่าเกษตรฯที่เพิ่งรู้จักกันเป็นครั้งแรก ก็มักถามกันว่า
"KU รุ่นไหน"
เพื่อได้แสดงวิสาสะในการนับถือกันเป็นพี่ เพื่อนและน้อง
โดยไม่คำนึงถึงวัยที่แท้จริง โดยแม้ห่างกันหลายสิบปี
ก็เรียกกันว่า"พี่"และ"น้อง"โดยไม่ตะขิดตะขวงใจ
นี่คือเสน่ห์อย่างหนึ่งของชาวเกษตรฯอย่างแท้จริง
Last updated: 2021-11-20 11:35:49