"วนกร"เพาะบ่มรู้ อุดมการณ์
เคียงคู่จิตวิญญาณ ป่าไม้
จรรยามุ่งสืบสาน คงมั่น มิคลาย
จักช่วยหนุนชาติให้ พรั่งพร้อม พงไพร
.มีอาชีพหลากหลายให้เลือกสรร
เพียงมุ่งมั่นหันมาเป็นป่าไม้
ต้องผจญคนโลภมากแสนหนักใจ
หวังสร้างคุณค่ายิ่งใหญ่ให้เเผ่นดิน
."วนกร"คำอ่อนโยนปนเพชรแฝง
ด้วยเข้มแข็งแกร่งกล้าไปไม่รู้สิ้น
ต้องเผชิญสิ่งเย้ายวนชวนราคิน
การอยู่กินฝึกให้ง่ายทั้งกายใจ
."อุดมการณ์"นั้นเต็มห้วงในดวงจิต
เน้นความคิดเห็นสำคัญมุ่งมั่นไว้
เป้าหมายหลักคอยตระหนักสู่หลักชัย
อันน้อมนำทำป่าไม้ให้สมบูรณ์
."วิญญาณ"ดีที่หล่อหลอมพร้อมสะพรั่ง
ทำจริงจังจากจิตใจไม่เสื่อมสูญ
เสียสละกล้าหาญล้นทนอาดูร
เพื่อเพิ่มพูนสร้างคุณให้ไพรพนา
."จรรยา"มั่นตามครรลองของการงาน
ไร้เป็นพาลแม้ลับหลังทั้งต่อหน้า
ไม่เบี่ยงเบนทรยศคิดคดพา
รังเกียจหาประโยชน์ไปให้แก่ตน
.ต้องเด็ดเดี่ยวจริงจังทั้งสามด้าน
เพื่อสืบสานการป่าไม้ให้เกิดผล
จึงภูมิใจในศักดิ์ศรีที่เป็นคน
ดีเหลือล้นแก่ชีวิตติดตามมา
.หากใครทิ้งสิ่งมีอยู่"อุดมการณ์"
อีกหมดสิ้น"วิญญาณ"การรักษ์ป่า
คอยเกเรไร้กระทำตาม"จรรยา"
ชีวิตนี้มิเหลือค่า"วนกร"
.ครูนิด วนศาสตร์(ชมรมสีเสียดแก่น)
www.lookforest.com
แรงดลใจ: วันที่ 18 ก.ย. 2439 องค์พระปิยมหาราช ได้ทรงสถาปนากรมป่าไม้ขึ้นมาเพื่อรับผิดชอบการบริหารจัดการป่าไม้ของไทย ในชีวิตที่ก้าวเข้ามมาสู่วงการป่าไม้คนหนึ่ง รู้สึกปิติและรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ท่านได้ทรงตระหนักถึงความสำคัญและคุณค่าของทรัพยากรป่าไม้ในประเทศไทย เท่าที่ผ่านมาได้มีความพยายามตั้งใจปฏิบัติงานในหน้าที่ความรับผิดชอบที่หวังให้เกิดผลดีต่ิด้านป่าไม้มาโดยตลอด ทั้งด้านการเรียน การทำงาน การวิจัย การสอนและอบรมให้ความรู้ การให้บริการวิชาการ รวมทั้งด้านอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเชื่อได้ว่าก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติได้พอควร
สิ่งที่เป็นห่วงต่อการบริหารจัดการป่าไม้ที่ผ่านมา ก็คือ "อุดมการณ์" "วิญญาณ" และ "จรรยา" ของชาววนกรในทุกระดับ ซึ่งเชื่อมั่นว่าหากไม่มีความบกพร่องแล้ว งานป่าไม้ของเราต้องประสบผลสำเร็จอย่างมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพที่ดียิ่งแน่นอน เพราะ ค่านิยมทั้ง 3 ด้านนี้ เป็นสิ่งที่มีคุณค่า มีประโยชน์ เป็นความดีงาม เป็นมโนธรรม เป็นเครื่องประคับประคองใจให้เกลียดชั่ว กลัวบาป ใฝ่ความดี เป็นเครื่องกระตุ้นผลักดันให้เกิดความรู้สึกรับผิดชอบ เกิดจิตสำนึกที่ดีมีความสงบเย็นภายใน และเป็นสิ่งที่ต้องปลูกฝังโดยเฉพาะเพื่อให้เกิดขึ้นและเหมาะสมกับการทำงานป่าไม้ตามความต้องการในสังคมไทย
การเรียนการสอนของทุกสถาบันการศึกษาทางด้านป่าไม้ ก็พยายามสานต่อให้เกิดค่านิยมที่ดีในวิชาชีพป่าไม้โดยสอดแทรกใกหลักสูตร และการทำกิจกรรมในรูปแบบต่าง ซึ่งเชื่อว่าชาววนกรทุกคนได้ผ่านมาแล้วเป็นอย่างดี ซึ่งช่วยส่งผลต่อการก้าวเข้ามาทำงานป่าไม้ในด้านต่างๆ กับทั้งหน่วยงานได้พยายามจัดอบรมเพิ่มเติมให้เป็นระยะๆ แต่มีบางคนที่มีความบกพร่องทางค่านิยมบางด้านลงไปโดยเหตุผลในด้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความโลภและความอยากได้ในทรัพย์สินเงินทอง จนเป็นเหตุให้กระทำความผิดในบางด้านตามมา อันส่งผลเสียหายต่อวงการป่าไม้เป็นการต่อเนื่องมาโดยตลอด เราจะทำอย่างไรให้วนกรได้ยึดมั่นค่านิยมทางป่าไม้ที่ดี ทั้งในด้าน "อุดมการณ์" "วิญญาณ" และ "จรรยา"ตลอดไป