กรอก email ที่ต้องการส่งแล้วกด Send
รักตนเอง รักครอบครัว รักองค์กร
 
     
 
"วนศาสตร์ที่ทรงจำ"
..."วนศาสตร์"ที่ทรงจำ... กับบทบาทที่เปลี่ยนไปในคณะนี้หลังจากเรียนจบปริญญาตรีไปเมื่อ 40 ปีที่แล้ว...
 

.สี่สิบปีที่เรียนครบจบออกไป
กลับเยือนใหม่สู่คณะ"วนศาสตร์"
หลายสิ่งเปลี่ยนมากโขตามโอกาส
เกินที่คาดวาดหวังไว้ในชีวี

.จากบทบาทเคยเรียนเล่นเป็นนิสิต
ใช้ชีวิตคะนองไปในวิถี
เป็นกรรมการช่วยคณะทำหน้าที่
สรรค์สิ่งดีการศึกษาป่าไม้ไทย

.อาจารย์เก่าเกษียณวัยไปทั้งหมด
บ้างสิ้นกรรมเป็นตามกฎกำหนดไว้
เหล่ารุ่นน้องสืบหน้าที่อย่างดีไป
ดูตั้งใจหมายมุ่งมั่นสร้างสรรค์งาน 

.บางอาคารอันหมดยุคถูกรื้อไป
ตึกหลายหลังสร้างใหม่ในถิ่นฐาน
สูงสง่าใหญ่โตแสนโอฬาร
รองรับใช้ในกิจการหลายด้านดี 

.ปรับหลักสูตรให้ถูกท่าสถานการณ์
ก้าวตามกาลทันสมัยในโลกนี้
ช่วยป่าไม้ให้ก้าวหน้าสานภาคี
ปริญญาตรีถึงเอกอเนกอนันต์ 

.เหล่านิสิตสมัยก่อนค่อนข้างน้อย
จากหลักร้อยเกือบเป็นชายไปทั้งนั้น
เพิ่มจำนวนผวนนักสู่หลักพัน
ทั้งผกผันส่วนใหญ่กลายเป็นหญิง 

.ประเพณีเปลี่ยนท่าทีตามนิสิต
เจอโควิดต้องปรับใหญ่ในหลายสิ่ง
ต้องทำใจให้เหมาะตามความเป็นจริง
เพียงเรื่องวิ่ง*วอนรักษาอย่าเลิกกัน 

."วนศาสตร์"อาจเปลี่ยนไปมากมายนัก
วอนความรักภักดิ์จริงใจไร้แปรผัน
พี่-เพื่อน-น้องผองครูบาฯสถาบัน
ร่วมมุ่งมั่นสานวิญญาณ์เพื่อป่าไพร

 

ครูนิด วนศาสตร์(ชมรมสีเสียดแก่น)
www.lookforest.com

หมายเหตุ *วิ่งประเพณีของคณะวนศาสตร์ระยะทาง 15 กิโลเมตร ซึ่งได้จัดให้มีขึ้นตั้งแต่เริ่มมีการจัดตั้งโรงเรียนป่าไม้ จังหวัดแพร่ ในสังกัดกรมป่าไม้ขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.2479 ต่อมายกระดับเป็นคณะวนศาสตร์ ในสังกัดมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ.2486 และได้ย้ายสถานที่จากจังหวัดแพร่มาอยู่ ณ ที่ทำการปัจจุบันภายในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2499 โดยกำหนดให้ นิสิตชั้นปีที่ 1 มีการวิ่งทดสอบ 12 กิโลเมตรก่อน ในภาคการศึกษาแรกที่เข้ามาเรียน จากนั้นในปลายปีได้กำหนดให้นิสิตชั้นปีที่ 1-3 วิ่งประเพณี 15 กิโลเมตรพร้อมกันมาจนถึงปัจจุบัน ผู้ที่จบจากคณะวนศาสตร์จึงต้องร่วมกิจกรรมวิ่งรวม 57 กิโลเมตร

แรงดลใจ: ช่วงเรียนปริญญาตรีที่คณะวนศาสตร์ในช่วงปี พ.ศ.2520-2524 ถือว่าได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขมากที่สุดก็ว่าได้ ด้วยมีภาระที่หนักหนาสาหัสเพียงอย่างเดียว คือ ต้องรับผิดชอบตัวเองในด้านการเรียนให้จบให้ได้เท่านั้น โดยมีพ่อและแม่คอยสนับสนุนทุนทรัพย์ในการเรียนให้ ที่เพียงพอต่อการจับจ่ายใช้สอยอย่างสบายๆ แม้ไม่มากมายเหมือนเพื่อนที่ร่ำรวยบางคน แต่ก็สามารถเกื้อหนุนเพื่อนบางคนได้ กับทั้งชอบการทำกิจกรรมร่วมกับคณาจารย์ รุ่นพี่ เพื่อนและน้องโดยตลอด นับว่ามีประสบการณ์ด้านนี้ในระดับแนวหน้าของรุ่นคนหนึ่งทีเดียว

คิดว่าตัวเองมีความผูกพันกับคณะวนศาสตร์เป็นอย่างมาก แม้หลังเรียนจบก็ยังกลับไปเยี่ยมเยียนอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการร่วมงานวิ่ง 12 และ 15 กิโลเมตร และกิจกรรมอื่นๆที่คณะวนศาสตร์หรือสมาคมศิษย์เก่าวนศาสตร์จัดขึ้น กับทั้งได้มีโอกาสกลับมาเรียนต่อปริญญาโทในช่วงปี พ.ศ.2527-2529 ยิ่งทำใหีมีโอกาสสัมผัสคณาจารย์และบรรยากาศทางวิชาการวนศาสตร์มากยิ่งขึ้น ทำให้ตระหนักถึงบทบาทและความสำคัญของชาววนศาสตร์ ที่จำเป็นต้องสร้างสรรค์งานป่าไม้ เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุดต่อสังคมและประเทศชาติ

ระลึกอยู่เสมอว่าได้เป็นผู้เป็นคนที่มีอาชีพมั่นคง ก็เพราะสถาบันแห่งนี้ได้เกื้อกูลมา จึงพยายามตอบแทนพระคุณที่คณะวนศาสตร์มีให้มาโดยตลอด ที่ผ่านมาก็ได้ร่วมกิจกรรมทางวิชาการ การสอนหนังสือบางวิชา การช่วยสอบวิทยานิพนธ์ การพิจารณาผลงานทางวิชาการทั้งในการประชุม การเผยแพร่งานวิจัยและการกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ การจัดหาทุนสนับสนุนการเรียนของนิสิตฯลฯ ทั้งนี้ที่ภูมิใจมากที่สุดด้านหนึ่ง ได้แก่ การที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ทรงคุณวุฒิในกรรมการประจำคณะวนศาสตร์ เมื่อ 21 มกราคม 2564 ที่พร้อมรับใช้คณะอย่างแท้จริง



Last updated: 2021-06-28 21:24:38


@ "วนศาสตร์ที่ทรงจำ"
 


 
     
เชิญท่านเป็นบุคคลแรกที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความ "วนศาสตร์ที่ทรงจำ"
 
     
     
   
     
Untitled Document
 



LFG
www.lookforest.com|บทความ|โปรแกรมคาร์บอนต้นไม้|ฐานข้อมูลชีวภาพ|เครือข่ายฟาร์มป่าไม้|ติดต่อบรรณาธิการ
Powered by: LOOK FOREST GROUP
23/1 ซอยรัชดาภิเษก 64 แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กทม.
Clicks: 
679

Your IP-Address: 18.226.226.151/ Users: 
678