กรอก email ที่ต้องการส่งแล้วกด Send
ในช่วงวิกฤตการณ์ต้องคิดถึงคนอื่นให้มาก ๆ
 
     
 
พะยูงฤาจะสูญสิ้นแผ่นดินไทย (12)
ผู้เขียนในฐานะประธานในที่ประชุม ไม่ใคร่จะเห็นด้วยกับการทำงานที่เมื่อมีเหตุการณ์อะไรที่รุนแรงก็แต่งตั้งกรรมการไว้ก่อน เป็นยันต์ป้องกัน แต่ทางปฏิบัตินั้นค่อยว่ากันอีกที ระบบราชการจึงมีแต่ “นามธรรม” ไม่ปรากฏเป็นรูปธรรม
 

คดีที่จบไปในตอน (11)  ท่านผู้อ่านคิดเหมือนผู้เขียนหรือไม่?  หน่วยงานอื่นที่มีอำนาจในการจับกุมแท้ๆ ลงทุนลงแรงจับนำของกลางไปเก็บรักษา  กลับมีอีกหน่วยงานหนึ่งเข้าไปขอแทรกตั้งข้อหา และทางอัยการกลับฟ้องให้กับฝ่ายที่เข้าไปแทรก  ประหลาดแท้  แล้วที่มีการจับไม้ที่ท่าเรือเป็นสิบๆตู้คอนเทนเนอร์ หน่วยงานป่าไม้ที่เกี่ยวข้องได้ไปร่วมสอดแทรกบ้างหรือไม่  หรือว่าเราไม่มีอำนาจน่าจะลองดูบ้างเพราะ โทษทางป่าไม้เราสำหรับไม้จำนวนมากแล้ว โทษไม่เบาทีเดียว โดนไปคนละ 5 ปี 10 ปี คงเข็ดไปอีกนาน...

เรามาว่าเรื่องของเราต่อดีกว่า  หลังจากที่ได้เข้าจับกุมไม้ที่ศุลกากรยึดแล้ว  ก็มีข่าวการลักลอบตัดไม้ ขนโดยรถตู้คอนเทนเนอร์มากมาย  สิ่งที่ผิดปรกติคือ  ตามหลักแล้วเราจะเห็นรถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์วิ่งตามถนนหลวง  และมักจะพบแถวทางแยกไปภาคตะวันออก  แต่คราวนี้กลับพบว่ามีการนำมาวิ่งตามแนวชายแดน  ตามตำบล  หมู่บ้านเป็นสิ่งที่ผิดสังเกต ...

ข่าวพวกนี้เริ่มมีหนังสือพิมพ์หลายฉบับลงตีพิมพ์ไม่เว้นแต่ละวัน   หน่วยงานภาคสนามในสังกัดสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9  เริ่มรายงานการจับกุมพวกที่บุกรุกลักลอบเข้าไปในเขตป่าอนุรักษ์ประปราย  ผู้เขียนในฐานะที่รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักฯบ่อยครั้งและแต่ละครั้งหลายวัน  เพราะผู้อำนวยการสำนักฯท่านติดราชการกรมและต้องเข้ารับการฝึกอบรมผู้บริหารระดับสูงนานถึง  6  เดือน  และเรื่องการจับกุมการลักลอบตัดไม้พะยูงหนาหูขึ้นผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าไปเพื่อชี้แจงให้กรมได้รับทราบ  ทางกรมได้มอบให้รองอธิบดีที่คุมสำนักป้องกันฯเป็นผู้ดูแลสำหรับสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9   เจ้าของพื้นที่ ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์และป้องกันทรัพยากร ซึ่งมีความรู้ความสามารถทันต่อเหตุการณ์   เร่งรีบเรียกประชุม หัวหน้าหน่วยงานภาคสนาม ผู้อำนวยการส่วนทุกส่วน หัวหน้ากลุ่มกฎหมาย และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง  ที่อาคารอเนกประสงค์ของสำนักงาน   เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2549 เวลา 10.00 น. สรุปได้ว่า...

ให้จัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจขึ้นศึกษาขบวนการลักลอบทำไม้พะยูงเพื่อการค้า  ในพื้นที่รับผิดชอบของ  สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9  ให้ผู้อำนวยการสำนัก เป็นประธาน  ผู้อำนวยการส่วนทุกส่วนเป็นกรรมการ และ ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์และป้องกันทรัพยากร เป็นเลขานุการ  ผู้เขียนในฐานะประธานในที่ประชุม ไม่ใคร่จะเห็นด้วยกับการทำงานที่เมื่อมีเหตุการณ์อะไรที่รุนแรงก็แต่งตั้งกรรมการไว้ก่อน  เป็นยันต์ป้องกัน แต่ทางปฏิบัตินั้นค่อยว่ากันอีกที ระบบราชการจึงมีแต่ “นามธรรม” ไม่ปรากฏเป็นรูปธรรม  ผลจึงไม่ไคร่จะประสบความสำเร็จ  หลังจากที่ทางสำนักได้ประชุม  ต่อมาอีก 4 เดือน กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้มีคำสั่งที่ 1897/2549  เรื่อง ให้จัดตั้งกองอำนวยการป้องกันและปราบปรามการลักลอบตัดไม้พะยูง ไม้ประดู่ ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์  ลงวันที่ 18 ธันวาคม  2549  โดยให้ผู้อำนวยการสำนักป้องกัน ปราบปรามและควบคุมไฟป่า เป็น ผอ.กอ.ปปอ. ให้ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์และป้องกันทรัพยากร  สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่  9 (อุบลราชธานี) เป็นเลขานุการ  โดยให้ดำเนินการตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม  2549  ถึงวันที่ 12 มีนาคม 2550  ในเวลา 3 เดือน  จึงสรุปผลให้กรมทราบว่า  จับกุมดำเนินคดีป่าไม้  ครอบครองไม้พะยูง ไม้ประดู่ ไม้ชิงชัน และไม้สาธร จำนวนทั้งสิ้น 115 คดี   จับกุมผู้ต้องหาได้ 62 ราย ตรวจยึดไม้ของกลาง จำนวน  5,355  ท่อน/เหลี่ยม ปริมาตร 451.06 ลูกบาศก์เมตร  จับในป่าอนุรักษ์ 34 คดี  นอกเขตป่าอนุรักษ์  81 คดี ที่นำตัวเลขมาให้ดูเพื่อจะให้ทราบว่า   เมื่อมีการจับกุมตามแผนดำเนินการ  เฉลี่ยแล้วจับได้กันแทบทุกวัน  แล้วที่หนีรอดไปอีกไม่ทราบว่าจะเป็นเท่าใด...

ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์และป้องกันทรัพยากร ท่านมีความรอบรู้มากและขยันได้รายงานผลการปฏิบัติ โดยได้แจกแจงตั้งข้อสังเกตรายงานปัญหาอุปสรรค  ได้อย่างละเอียดและต่อมาท่านยังได้ประสานงานขอกำลังทหารจากกองกำลังสุรนารีสนับสนุนการปราบปรามการลักลอบตัดไม้พะยูง ไม้ประดู่ ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ จำนวน 60 คน ปฏิบัติงานระหว่างวันที่ 10 มีนาคม 2550   ถึงวันที่ 9 พฤษภาคม 2550  และขอสนับสนุนอากาศยานจากกองกำลังสุรนารี ในการบินตรวจป่าอีกด้วย โดยของบประมาณไปยังกรม  ซึ่งได้รับการอนุมัติเป็นเงิน 614,100 บาท สำหรับเป็นเบี้ยเลี้ยงกำลังพล  สำหรับค่าน้ำมันเครื่องบินอนุมัติให้  136,000 บาท ผลการบินสำรวจ จำนวน 17 เที่ยว ตั้งแต่ 28 มีนาคม 2550   ถึงวันที่ 8 มิถุนายน 2550  ตรวจพบการกระผิดเกี่ยวกับกฎหมายป่าไม้  จำนวน 15 จุด ตรวจยึดไม้พะยูง ไม้พะยอม ฯลฯ จำนวน 240 ท่อน/แผ่น/ เหลี่ยม  ปริมาตร 17.411 ลูกบาศก์เมตร  ผู้ต้องหา 1 คน ตรวจยึดพื้นที่ป่าบุกรุก เนื้อที่       34 – 1 – 02  ไร่  ไม่พบตัวผู้กระทำผิด...

ที่เล่ามานี้ต้องการให้ท่านทราบว่าทางสำนัก และกรมอุทยาน มิได้นิ่งนอนใจได้หาวิธีการและบูรณาการกับหน่วยงานอื่นมาตลอด มีบางท่านที่รู้และไม่รู้  ผู้เขียนพยายามนำเสนอเรื่องในอดีตเพราะเปรียบได้กับเราจะร่างหนังสือซักฉบับจำเป็นต้องค้นหาแฟ้มเรื่องเดิม  นำมันมาอ่านจบทะลุปรุโปร่งแล้ว จึงจะทำการร่างได้ถูกต้องตรงประเด็น  ตอนนี้ขอเป็นผู้ขี่ม้าเลียบค่ายเสียก่อนที่จะเข้าตีเมือง  หวังว่าผู้อ่านคงเข้าใจ....

ตั้งแต่กรมได้มีการจัดตั้ง กอ.ปปอ.เป็นช่วงเวลาที่ผู้เขียนไม่ใคร่จะได้อยู่รักษาราชการมากนัก  เพราะเป็นช่วงผลัดเปลี่ยนผู้อำนวยการสำนัก  และเป็นจังหวะที่สายข่าวแจ้งให้ทราบว่า  พบแหล่งรวมหมอนไม้พะยูงแล้วอยู่ที่อำนาจเจริญแต่กำลังหาพิกัดอยู่   ผู้เขียนช่วงนี้ไม่ได้รักษาราชการแทน  และคำสั่งเกี่ยวกับการปราบปรามการลักลอบตัดไม้พะยูงไม่ว่าจะเป็นสำนักฯตั้ง  หรือกรมแต่งตั้งจะไม่มี  “หัวหน้ากลุ่มงานวิชาการ” เป็นกรรมการแม้แต่ฉบับเดียว  เมื่อได้รับข่าวจำเป็นจะต้องไป   จึงขออนุมัติไปราชการเพื่อสำรวจพันธุ์ไม้ที่  วนอุทยานภูสิงห์ – ภูผาผึ้ง  ซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าดงบังอี่และป่าดงหัวกอง  ท้องที่อำเภอเมือง  จังหวัดอำนาจเจริญ  คราวนี้มาติดที่ไม่มียานพาหนะ  จึงไปชวนผู้อำนวยการส่วนจัดการต้นน้ำ  คุณณรงค์  อุทยารัตน์  โดยให้ไปตรวจหน่วยจัดการต้นน้ำ  รวบรวมกำลัง  คุณประเวศ  คุณไมตรี  ซึ่อยู่ในสายป้องกันทั้งสองคนไปร่วมด้วย  เนื่องจากหากไปตรวจพบจะได้มอบเรื่องให้สายงานโดยตรง  โดยพากันออกเดินทางในวันที่ 1 กุมภาพันธ์  2550 ไปประสานกับสายข่าวที่อยู่หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ อจ.1 (อำนาจเจริญ)  จึงนำกำลังเจ้าพนักงานพิทักษ์ป่า ซึ่งรู้พื้นที่ดีตามไปด้วย  ขณะเดินทางถึงบริเวณ เส้นทางบ้านดอนหวาย  ตำบลบุ่ง  อำเภอเมือง  จังหวัดอำนาจเจริญ  ไปยังบ้านหนองไฮ  ตำบลหนองไฮ  อำเภอเสนางคนิคม  จังหวัดอำนาจเจริญ  ขณะเดินทางถึงบ้านหนองมะเสี่ยง  ตำบลหนองไฮ  อำเภอเสนางคนิคม  จังหวัดอำนาจเจริญ พบรถปิคอัพ สีแดงโครงหลังคาสูง  หมายเลขทะเบียน บง – 1407 อำนาจเริญ  ดูท่าทางจะบรรทุกหนักแต่วิ่งรวดเร็ว  จึงได้ติดตามจากเส้นทางบ้านหนองมะเสี่ยง  ถึงบ้านโคกสำราญ  ตำบลนาแต้  อำเภอเมือง  จังหวัดอำนาจเจิญ  จึงเรียกให้หยุดแล้วแสดงตัวเพื่อขอตรวจสอบ   เมื่อรถหยุดได้ให้ตรวจสอบแต่โดยดี  มีนางกิ่งดาวฯ  อายุ  42  ปี  เป็นผู้ขับขี่ และมี    นายสงกรานต์ฯ อายุ  33 ปี  นั่งคู่มาด้วยในตอนหน้ารถ  ตรวจสอบด้านหลังกระบะรถยนต์  โดยเปิดผ้าใบคลุมรถ    พบไม้เต็มกระบะ  ลักษณะใหม่สด  ตรวจดูเป็นชนิดไม้พะยูง  ไม่ปรากฎรูปรอยตราประทับของพนักงานเจ้าหน้าที่ของทางราชการ  ตีประทับแต่อย่างใด   จากนั้นจึงได้ควบคุมรถขนไม้และผู้ต้องหา ไปทำการสอบสวนที หน่วยประสานงานป้องกันรักษาป่า (นปป.) ประจำจังหวัดอำนาจเจิญ...

เมื่อถึงที่หมายได้เอาไม้ลงจากรถ  เจ้าหน้าที่ได้ร่วมตรวจสอบกับนางกิ่งดาวฯ เป็นไม้พะยูง จำนวน  19  ท่อนและได้คัดออกมา  9  ท่อน โดยนางกิ่งดาวฯ  อ้างว่าเป็นไม้ที่เคยถูกจับมาแล้วและเพิ่งได้รับคืนจากเจ้าหน้าที่ป่าไม้  หลังจากพนักงานอัยการจังหวัดอำนาจเจริญ “ สั่งไม่ฟ้องคดี ” และนำเอกสารการได้มาของไม้มาแสดง  เป็นสำเนาหนังสือสั่งไม่ฟ้องคดีของพนักงานอัยการจังหวัดอำนาจเจริญที่ตนเองลงนามรับรองสำเนาถูกต้อง  สำหรับไม้พะยูง   อีก  10  ท่อน  เป็นไม้แก่นล่อน  บางท่อนมีรอยไฟไหม้ไม้ ทั้งหมดไม่เคยประกอบเป็นสิ่งปลูกสร้าง  สิ่งของเครื่องมือเครื่องใช้มาก่อน...

ท่านผู้อ่านลองดูว่าหญิงเหล็ก  เธอจะสู้คดีอย่างไร ในเมื่อไม้พะยูง 9 ท่อนแรก มีหนังสือสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องจากอัยการแล้ว  จำนวน 10 ท่อนหลัง  เป็นไม้พะยูงจะใช้อะไรเป็นหลักฐาน...

 

 

 

ติดตามตอน (13)

 


Last updated: 2014-07-27 07:09:39


@ พะยูงฤาจะสูญสิ้นแผ่นดินไทย (12)
 


 
     
เชิญท่านเป็นบุคคลแรกที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความ พะยูงฤาจะสูญสิ้นแผ่นดินไทย (12)
 
     
     
   
     
Untitled Document
 



LFG
www.lookforest.com|บทความ|โปรแกรมคาร์บอนต้นไม้|ฐานข้อมูลชีวภาพ|เครือข่ายฟาร์มป่าไม้|ติดต่อบรรณาธิการ
Powered by: LOOK FOREST GROUP
23/1 ซอยรัชดาภิเษก 64 แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กทม.
Clicks: 
1,144

Your IP-Address: 3.144.6.29/ Users: 
1,143