คณะกรรมการป่าชุมชนและกฎระเบียบป่าชุมชน
เมื่อพิจารณาระเบียบข้อบังคับแต่ละข้อ สามารถกล่าวได้ว่าทิศทางของป่าชุมชนตำบลห้วยแก้วเน้นการปกป้องและรักษาทรัพยากรต้นไม้ ทรัพยากรดิน และทรัพยากรสัตว์ป่าในบริเวณเขตป่าชุมชน
คณะกรรมการป่าชุมชนและกฎระเบียบป่าชุมชน: การสถาปนาสถาบันชุมชนเพื่อควบคุมและจัดระบบความสัมพันธ์ ระหว่างชุมชนกับทรัพยากรป่าไม้หลังจากการประกาศจัดตั้งโครงการทดลองป่าชุมชนห้วยแก้ว หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือหลังจากที่กรมป่าไม้ได้มอบพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติแม่ออนบางส่วนให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของชาวบ้านห้วยแก้วในรูปของป่าชุมชน ได้มีการปฏิบัติการในระดับหมู่บ้านอย่างน้อย 3 แนวทาง ได้แก่ 1) การกำหนดขอบเขตทางกายภาพของป่าชุมชน 2) การจัดตั้งองค์กรชุมชนหรือคณะกรรมการป่าชุมชน และ 3) การกำหนดระเบียบและกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากป่าชุมชน การกำหนดขอบเขตป่าชุมชน: ดังที่กล่าวแล้วข้างต้น กรมป่าไม้ได้มอบพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติแม่ออน 1,600 ไร่ให้กับชาวบ้านห้วยแก้วบริหารจัดการในรูปแบบของป่าชุมชน เพื่อให้พื้นที่ป่าดังกล่าวได้รับการคุ้มครองและจัดการโดยชาวบ้านอย่างทั่วถึง กรมป่าไม้ได้กำหนดแนวเขตของป่าชุมชนอย่างชัดเจน ด้านทิศเหนือจรดกับห้วยแม่นาก๋อน ทิศใต้จรดกับถนน รพช. สายห้วยแก้ว-แม่กำปอง ทิศตะวัน-ออกจรดบ้านป่าแดงและโครงการสวนป่าสัก กรมป่าไม้ และทิศตะวันตกจรดกับสันเขาบวกโล้น จะเห็นได้ว่าแนวเขตป่าชุมชนมักกำหนดขึ้นโดยอ้างอิงตามแนวสันเขาและห้วย ซึ่งเป็นแนวเขตตามธรรมชาติที่ชาวบ้านคุ้นเคยเป็นอย่างดี รวมถึงยึดตามแนวถนนซึ่งเป็นขอบเขตที่ตายตัวและเป็นที่ยอมรับร่วมกันของชาวบ้านโดยทั่วไป นัยของการกำหนดขอบเขตป่าชุมชนก็คือการสร้างการยอมรับร่วมกันระหว่างกรมป่าไม้และชาวบ้านห้วยแก้ว รวมถึงการสร้างความเข้าใจที่ตรงกันระหว่างชาวบ้านห้วยแก้วด้วยกันเองเกี่ยวกับขอบเขตป่าที่อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของหมู่บ้าน นอกจากเจ้าหน้าที่ป่าไม้จะได้ใช้ขอบเขตป่าเพื่อติดตามและตรวจสอบการดำเนินงานของคณะกรรมการป่าชุมชนแล้ว แนวเขตทางกายภาพยังมีผลทางด้านจิตวิทยาต่อชาวบ้านในแง่ความรู้สึกเป็นเจ้าของพื้นที่ป่าไม้ ด้านการจัดตั้งองค์กร: นอกเหนือจากการกำหนดขอบเขตทางกายภาพของป่าชุมชน ในเดือนกรกฎาคม 2533 นายอำเภอสันกำแพงมีหนังสือแต่งตั้งคณะกรรมการระดับท้องถิ่น โครงการทดลองป่าชุมชนห้วยแก้ว อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ทั้งนี้ ทางอำเภอฯ ได้ขอความร่วมมือให้สภาตำบลห้วยแก้วคัดเลือกตัวแทนชาวบ้านเพื่อทำหน้าที่คณะกรรมการระดับท้องถิ่น หรืออาจเรียกว่าคณะกรรมการป่าชุมชน ซึ่งแต่งตั้งและรับรองโดยนายอำเภอ คณะกรรมการป่าชุมชนห้วยแก้วชุดแรก ประกอบด้วยสมาชิก 13 คน ซึ่งเป็นตัวแทนจากหมู่บ้านห้วยแก้วหมู่ที่ 4 จำนวน 4 คน ที่เหลืออีก 9คนเป็นตัวแทนจากหมู่บ้านแม่เตาดิน หมู่ที่ 5 ตำบลห้วยแก้ว อำเภอสันกำแพง โดยคณะกรรมการมีบทบาทและหน้าที่ดังต่อไปนี้ - ร่วมกำหนดขอบเขตพื้นที่ป่าชุมชน
- เสนอประโยชน์การใช้สอยจากป่าชุมชน
- กำหนดกฎเกณฑ์การใช้สอยป่าชุมชนและการลงโทษ
- จัดการป่า ปลูกป่า ป้องกันไฟป่า ฟื้นฟูสภาพป่า ตรวจสอบดูแลสภาพป่า
- ให้การศึกษาแก่ชาวบ้านในพื้นที่ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
- ประสานงาน เสนอแผนการดำเนินงาน และปรึกษาหารือกับสภาตำบลและกรรมการระดับ อำเภอ
จะเห็นได้ว่าบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการป่าชุมชนครอบคลุมหลายด้าน ตั้งแต่การจัดการและฟื้นฟูพื้นที่ป่าชุมชนในด้านเทคนิคและวิทยาการด้านป่าไม้ การติดตามตรวจสอบและบังคับใช้กฎระเบียบป่าชุมชนกับสมาชิกในหมู่บ้าน การให้ความรู้และการศึกษาแก่ชาวบ้าน และสุดท้ายก็คือการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในแต่ละระดับ การกำหนดระเบียบข้อบังคับป่าชุมชน: ภายหลังการประกาศให้จัดตั้งป่าชุมชนห้วยแก้วภายในหมู่บ้านยังมีการกำหนดระเบียบกฎเกณฑ์ในการใช้ประโยชน์จากป่าชุมชน ประกอบด้วย
- ห้ามตัดไม้ในป่าไปขาย แต่อนุญาตให้นำไม้ล้มหมอนนอนไพรมาเป็นไม้ฟืนและเชื้อเพลิงใช้ในครอบครัวได้
- ในระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 เป็นต้นไป ห้ามตัดไม้ยืนต้นในบริเวณป่าชุมชน เพื่อให้ป่าฟื้นคืนสภาพ ในกรณีจำเป็น เช่น บ้านถูกไฟไหม้หรือแยกครอบครัวใหม่ ต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการ
- ห้ามคนต่างตำบลมาเก็บหน่อไม้ ไม้ทุกชนิด และของป่าทุกชนิดในบริเวณป่าชุมชน
- ห้ามกานหรือถากเปลือกไม้ หรือทำการอื่นๆ ที่จะเป็นสาเหตุให้ต้นไม้ตาย
- ห้ามจุดไฟเผาป่า
- ห้ามเผาถ่าน
- การใช้ไม้ไผ่ของชาวบ้านให้เอามาใช้ได้ในครอบครัว ห้ามขายเด็ดขาด
คณะกรรมการป่าชุมชนห้วยแก้วได้อาศัยกฎระเบียบป่าชุมชนดังกล่าวในการควบคุมการใช้ประโยชน์ทรัพยากรในเขตป่าชุมชนมาตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2533 ต่อมาในปี พ.ศ. 2548 องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยแก้วได้ปรับปรุงกฎระเบียบป่าชุมชนห้วยแก้วชุดเดิม โดยมีการเพิ่มบทลงโทษกรณีฝ่าฝืนอย่างชัดเจน และเพิ่มรายละเอียดข้อห้ามต่างๆ ในการใช้ประโยชน์จากป่าชุมชน และในระยะเวลาต่อมาองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยแก้วได้ประกาศรับรองกฎระเบียบดังกล่าวให้เป็นระเบียบข้อบังคับของตำบลห้วยแก้วว่าด้วยการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความสงบสุข เมื่อพิจารณาระเบียบข้อบังคับแต่ละข้อ สามารถกล่าวได้ว่าทิศทางของป่าชุมชนตำบลห้วยแก้วเน้นการปกป้องและรักษาทรัพยากรต้นไม้ ทรัพยากรดิน และทรัพยากรสัตว์ป่าในบริเวณเขตป่าชุมชน ในขณะที่การใช้ประโยชน์ของชาวบ้านอนุญาตเพียงแค่การใช้ในครัวเรือนและเพื่อยังชีพเท่านั้น พร้อมทั้งมีการกำหนดปริมาณการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในป่าชุมชนอีกด้วย ทั้งนี้ ไม่ปรากฏว่ามีระเบียบข้อบังคับใดที่กล่าวถึงการส่งเสริมการจัดการและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในป่าชุมชนอย่างยั่งยืน รายละเอียดของระเบียบข้อบังคับป่าชุมชนนำเสนอในกล่องข้อความด้านล่าง
ระเบียบข้อบังคับการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความสงบสุข
ต.ห้วยแก้ว อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่
|
1.
|
ห้ามมิให้นำไม้ในป่าไปขาย แต่สามารถเก็บไม้ขอนนอนไพรมาเป็นเชื้อเพลิงได้
|
2.
|
ห้ามมิให้ตัดไม้ยืนต้นในบริเวณป่าชุมชน ยกเว้นกรณีมีความจำเป็น ต้องได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตำบลห้วยแก้วแกรณีจำเป็นมีดังนี้
สร้างบ้านใหม่เนื่องจากไฟไหม้บ้าน แยกครอบครัวใหม่ บ้านที่อยู่
มีสภาพไม่มั่นคงถาวร
|
3.
|
ห้ามคนต่างตำบลมาเก็บหน่อไม้ ไม้ไผ่ทุกชนิด บริเวณป่าชุมชน
|
4.
|
สำหรับบุคคลภายในตำบลต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในตำบลห้วยแก้ว การเก็บของป่า
หน่อไม้ไปขาย ได้คนละไม่เกิน 100 กิโลกรัมต่อวัน
|
5.
|
การใช้ไม้ไผ่บริเวณป่าชุมชน ไม้ไผ่ซางไม่เกินครอบครัวละ 100 เล่มต่อปี ไผ่บง 100
เล่มต่อปี และไผ่ไร่ 100 เล่มต่อปี
|
6.
|
ห้ามจุดไฟเผาป่าโดยไม่ได้รับอนุญาต
|
7.
|
ห้ามกานต้นไม้ ถากเปลือกไม้ หรือการทำการอื่นๆ ที่จะเป็นสาเหตุให้ต้นไม้ตาย
|
8.
|
ห้ามเผาถ่านหรือขุดเอาไม้ฟืนจากป่า ยกเว้นได้รับอนุญาตหรืออนุโลมจากคณะกรรมการฯ
|
9.
|
ห้ามบุคคลภายนอกล่าสัตว์ทุกชนิดบริเวณป่าชุมชน
|
10.
|
ห้ามเบื่อ ระเบิดปลา และช๊อตปลาในแม่น้ำลำห้วยสาธารณะ
|
11.
|
ห้ามนำหิน ดิน ทราย ออกจากลำห้วยหรือพื้นที่สาธารณะโดยไม่รับความยินยอม/อนุโลมจากคณะกรรมการฯ
|
12.
|
ห้ามเก็บหน่อไม้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมจนถึงวันที่ 31 พฤษภาคมของปีถัดไป
|
จะเห็นได้ว่านับตั้งแต่มีการประกาศจัดตั้งป่าชุมชนห้วยแก้วมาตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2530 การใช้ประโยชน์ทรัพยากรในเขตป่าชุมชนของชาวบ้านถูกกำกับโดยระเบียบข้อบังคับป่าชุมชนที่กำหนดขึ้นเองภายในหมู่บ้าน โดยมีคณะกรรมการป่าชุมชนทำหน้าที่บังคับใช้กฎระเบียบดังกล่าว มีการแบ่งลักษณะการใช้ประโยชน์ของชาวบ้านออกเป็นการใช้ประโยชน์ เพื่อการยังชีพ และการใช้ประโยชน์เพื่อการค้าซึ่งดูเหมือนว่าระเบียบข้อบังคับป่าชุมชนห้วยแก้วไม่ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ในรูปแบบหลังที่เน้นด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและรายได้จากป่าชุมชน แต่สำคัญที่สุดก็คือกฎระเบียบไม่อนุญาตให้มีการตัดไม้ในป่าชุมชน ยกเว้นกรณีที่จำเป็น และมีการกำหนดเงื่อนไขและขั้นตอนการอนุญาตให้ใช้ประโยชน์อย่างชัดเจน
Last updated: 2012-12-22 14:12:02
|
@ คณะกรรมการป่าชุมชนและกฎระเบียบป่าชุมชน |
|
|
|
|
|
|
|
ป่าชุมชนต.คลองน้ำไหล   [1/13002]...xxx.53.164.30 2021-09-02 17:09:47 เป็นแบบอย่างที่ดีมากๆทำให้ชุมชนตื่นตัวส่งเสริมสืบสานให้กับลูกหลานได้มีความรักห่วงแหนช่วยกันดูแลรักษาธรรมชาติสิ่งแวดล้อมของป่าชุมชนให้อยู่คู่กับท้องถิ่นของเราสืบไปเป็นแบบอย่างให้ชุมชนอื่นๆนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ของตนเองต่อไป
|