เรียนไปชายฝั่ง
.ชาวเครือข่ายฯแปดตำบล"สมุทรสาคร"
ออกสัญจรเรียนจัดการงานชายฝั่ง
สี่จังหวัดสามวันสานพลัง
ลุสิ่งหวังหลังสงกรานต์สานภาคี
.ไปถิ่น"ตราด"ดูงานบ้านเปร็ดใน
รักษาไว้ป่าชายเลนเน้นเต็มที่
กลุ่มออมทรัพย์ช่วยชุมชนเกิดผลดี
หลายสิบปีมิหยุดยั้งยังทำไป
.แล้วเข้าเยือนบ้านธรรมชาติล่าง
มีหลายอย่างสร้างสรรค์ผลงานไว้
วิสาหกิจชุมชนคนร่วมใจ
หวังผลให้ชายฝั่งสะพรั่งมา
."จันทบุรี"ที่สวนพฤกษ์ฯเพื่อ ร.9
มุ่งรวมเอาพรรณไม้ในโลกหล้า
ป่าชายเลนมาปลูกไว้ให้งามตา
คนพึ่งพา-เรียน-เที่ยว-ชมสุขสมกัน
.ชุมชนบ้านเสม็ดงามเลิศล้ำนัก
อนุรักษ์ป่าชายเลนเน้นสร้างสรรค์
สร้างอาชีพมีรายได้ใฝ่สัมพันธ์
แหล่งศึกษาสารพันสมุนไพร
.ไป"ระยอง"สวนพฤกษ์ฯที่บ้านเพ
ชายทะเลเสวนาจัดงานใหญ่
ได้ความรู้ด้านขยะจะทำไง
การแก้ไขชายฝั่งทางกัดเซาะ
."ฉะเชิงเทรา"เข้าชมวัดคงคาราม
ช่างแสนดีวิธีทำอันงามเหมาะ
ป่าโกงกางงามตาพาปลูกเพาะ
สิ่งเลิศเพราะบ้านปลา-ธนาคารปู
.วัดหงษ์ทองโบสถ์ใหญ่ในทะเล
ช่างสุดเท่หลายอาคารรังสรรค์คู่
ทำบุญวัดไหว้พระพาเรียนรู้
ปรับตัวสู้คลื่นลมมาพาพ้นภัย
.ขอบคุณต่อ
"มสธ."ทั้งภาคี
สร้างสิ่งดีได้วิชาค่ายิ่งใหญ่
พร้อมเร่งรัดพัฒนาพาวิไล
ประยุกต์ใช้ชายฝั่ง..."สมุทรสาคร"
แรงดลใจ: ช่วง 17-19 เมษายน 2567 ทางคณาจารย์ของ
มสธ.:มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
อันประกอบด้วย อ.อ้อม: อ.ดร.สุธิดา มณีอเนกคุณ อ.อร: ผศ.ดร.อิงอร ไชยเยศ
และ อ.แพร: อ.ดร.อภิษฎา เรืองเกตุ ได้ร่วมกันดำเนินการโครงการบริการวิชาการแก่สังคม
โดยการนำพี่น้องเครือข่ายชุมชนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งจังหวัดสมุทรสาคร
รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวม 42 คน
ไปศึกษาดูงานการบริหารจัดการทรัพยากรชายฝั่งในพื้นที่ 4 จังหวัดทางภาคตะวันออก คือ
ตราด จันทบุรี ระยองและฉะเชิงเทรา นับว่าเป็นโครงการที่มีประโยชน์อันน่าชมเชยอย่างแท้จริง
ได้เข้าร่วมกิจกรรมนี้ด้วยอย่างยินดียิ่ง
เพราะห่างเหินจากการจัดกิจกรรมทำนองนี้ให้ชาวเครือข่ายฯมานานหลายปี
เนื่องจากไม่สามารถดำเนินการได้จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด
โดยมีทีมงานเก่าแก่ร่วมเดินทางด้วย คือ ผอ.สมศักดิ์ พิริยโยธา ผอ.พิสิทธิ์
แสงจันทร์ กำนันเวชยันต์ รักประเทศ และ ดร.ศศิภา ปัญญาวัฒนาสกุล
ที่ร่วมกันจัดตั้งเครือข่ายฯนี้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556
นอกจากความประทับใจในการแลกเปลี่ยนและได้รับความรู้รวมทั้งประสบการณ์ทางด้านการจัดการชายฝั่งและชุมชนเพิ่มเติมอย่างมากมายแล้ว
ทางทีมงานและพี่น้องเครือข่ายฯยังแอบทำบิ๊กเซอร์ไพรส์ในคืนวันที่ 18 เมษายน 2567
โดยจัดพิธีในโอกาสวันคล้ายวันเกิดให้ด้วย
เป็นธรรมเนียมของการดูงานที่เคยทำมาตลอด
ต้องให้ชุมชนทั้ง 8 ตำบล คือ พันท้ายนรสิงห์ โคกขาม บางหญ้าแพรก บางกระเจ้า
บ้านบ่อ บางโทรัด กาหลงและนาโคก
ได้ระดมสมองเพื่อสรุปประเด็นที่ได้จากการศึกษาดูงาน
ในการนำไปปรับใช้ดำเนินการที่สมุทรสาคร ซึ่งแต่ละชุมชนก็ได้นำเสนอกันได้เป็นอย่างดี
ซึ่งอาจมีเพิ่มเติมมากขึ้นอีกเมื่อกลับไปชุมชนของตน
ต้องยอมรับว่าสมาชิกเครือข่ายฯนี้มีความเข้มแข็งและจิตอาสากันเป็นอย่างมาก
โดยมีการทำกิจกรรมร่วมกันอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว
หากได้รับการสนับสนุนทั้งวิชาการและทรัพยากรเพิ่มเติมจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ
ท้องถิ่น และเอกชนแล้ว
เชื่อมั่นว่าต้องทำให้มีการสร้างผลงานเพื่อประโยชน์ต่อชุมชนและประเทศชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเพิ่มขึ้นแน่นอน
ขอบพระคุณหน่วยงานและบุคคลที่เกี่ยวข้องที่ช่วยให้ความอนุเคราะห์และสนับสนุนการเพิ่มศักยภาพให้ชาวเครือข่ายฯในครั้งนี้
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มสธ. สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสมุทรสาคร
ตราดและระยอง บุคลากรในสังกัดกรมทรัพยาการทางทะเลและชายฝั่ง อาทิ ผอ.เกรียง
มหาศิริ ผอ.ชาตรี มากนวล ผอ.ธนิต แสงวิสุทธิ์ รวมทั้งคุณสิริพงศ์ ไพบูลย์
หัวหน้าสวนพฤกษศาสตร์บ้านเพ ตลอดจนกลุ่มอนุรักษ์และพัฒนาป่าชายเลนบ้านเปร็ดใน
กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านธรรมชาติล่าง สวนพฤกษศาสตร์ป่าชายเลนนานาชาติ ร.9
กลุ่มพัฒนาป่าชายเลนบ้านเสม็ดงาม
กลุ่มบ้านปลา-ธนาคารปูของชุมชนชายฝั่งบ้านบนวัดคงคาราม
Last updated: 2024-05-04 22:18:15